คนดีศรีแพทย์ทหาร



คนดีศรีแพทย์ทหาร สาขาวิชาการและวิจัย

ศาสตราจารย์ พันเอกหลวงวาจวิทยาวัฒน์ (แพทย์/ทันตแพทย์)

การศึกษา

  • ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต ( M.D. ) มหาวิทยาลัย Syracuse

     - ปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (D.D.S.) พ . ศ . ๒๔๖๘ มหาวิทยาลัย Pennsylvania

การทำงาน

  • นายแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ผบ . กองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ ๑ กองเสนารักษ์มณฑลทหารบกที่ ๑ ๑ เม . ย . ๒๔๗๙ - ๒๗ ก . พ . ๒๔๘๑
  • นายกสมาคมไทยทันตแพทย์สมาคมคนแรก พ . ศ . ๒๔๘๑
  • หัวหน้าแผนกอิสระทันตแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๖ พ . ค . ๒๔๘๕

     - คณบดีคนแรกของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ . ศ . ๒๔๘๕

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ( พ . ศ . ๒๔๖๘ - ๒๔๗๗ ) ได้เริ่มดำริจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ในระดับปริญญาขึ้นเมื่อ พ . ศ . ๒๔๗๑ โดยศาสตราจารย์ พ . อ . หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ( วาด แย้มประยูร พ . ศ . ๒๔๔๓ - ๒๕๐๙ ) ขณะที่รับราชการอยู่ในคณะทันตแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่งยังสังกัดอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลานั้น ได้เสนอความเห็นการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ขึ้นในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้รับการสนองตอบแต่อย่างใด

ต่อมาปี    พ . ศ . ๒๔๗๕ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองและผลของสงคราม ทำให้มีการปรับปรุงกองทัพบกเป็นอย่างมาก สายการแพทย์ก็ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยรวมกองเสนารักษ์ที่ ๑ ( ปากคลองหลอด ) และกองเสนารักษ์ที่ ๒ ( บางซื่อ ) มาตั้งใหม่ ที่วังพญาไท ให้ชื่อว่า “กองเสนารักษ์จังหวัดทหารบกกรุงเทพ” โดยพระศัลยเวทยวิศิษฐ ( สาย คชเสนี ) นายแพทย์ใหญ่ทหารบก ขณะนั้นเห็นว่า การรักษาพยาบาล เป็นหัวใจของการแพทย์ที่มีชื่อเสียงจากโรงพยาบาลศิริราช ให้มีการโอนมารับราชการในกองทัพบก ๓ นาย หนึ่งในจำนวนนั้นคือ หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ซึ่งเป็นอายุรแพทย์ และทันตแพทย์ ต่อมาท่าน ได้รับยศเป็น พันเอก ดำรงตำแหน่ง ผบ . กองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ ๑ ( เทียบเท่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในเวลาต่อมา )   ภายหลังจากที่ศาสตราจารย์ พ . อ . หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ได้ย้ายไปรับราชการในกระทรวงกลาโหมแล้วก็ได้เสนอความเห็นการตั้งโรงเรียนทันตแพทย์อีกสองครั้งคือครั้งแรกเมื่อ พ . ศ . ๒๔๗๕ ท่านได้ติดต่อกับศาสตราจารย์นายแพทย์ เอ . จี . เอลลิส อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนั้นเพื่อการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ขึ้นในมหาวิทยาลัย แต่ไม่เป็นผลสำเร็จครั้งหลังเมื่อ พ . ศ . ๒๔๗๙ ขณะที่ศาสตราจารย์ พ . อ . หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการกองเสนารักษ์มณฑลทหารบกที่ ๑ ได้พยายามติดต่อกับ Dr.A.G.Ellis ซึ่งเป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเรื่องการจัดตั้งเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์อีกแต่ไม่บังเกิดผลสำเร็จเช่นเคย ท่านจึงได้เสนอโครงการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์สำหรับราชการทหาร ขึ้นไปยัง จอมพล ป . พิบูลสงคราม ขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการตามโครงการที่เสนอนั้นได้ในกรมแพทย์ทหารบก เพื่อที่จะได้มีแพทย์เฉพาะทาง เช่นเดียวกับต่างประเทศ และได้อนุมัติให้ศาสตราจารย์ พ . อ . หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ ในต่างประเทศเป็นระยะเวลา ๕ เดือน ใน พ . ศ . ๒๔๘๒ เมื่อ ศาสตราจารย์ พ . อ . หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เดินทางกลับจากดูงานในต่างประเทศนั้น ประจวบกับเป็นเวลาที่ จอมพล ป . พิบูลสงคราม ได้เข้าดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ด้วย จึงเปลี่ยนนโยบายจากการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ ในกรมแพทย์ทหารบก มาดำริที่จะจัดตั้งขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ๑๖ พ . ค . ๒๔๘๓ ได้เริ่มจัดตั้งแผนกทันตแพทยศาสตร์เป็นแผนกวิชาอิสระขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มีคำสั่งแต่งตั้งศาสตราจารย์ พ . อ . หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เป็นหัวหน้าแผนกทันตแพทยศาสตร์คนแรก ใน พ . ศ . ๒๔๘๕ ได้ตั้งกรมสาธารณสุขซึ่งสังกัดอยู่ในกระทรวงมหาดไทยมาตั้งแต่ พ . ศ . ๒๔๕๕ ขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุข และมีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นกรมหนึ่งอยู่ในกระทรวงนี้ ได้โอนแผนกทันตแพทยศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ท่านผู้เป็นหัวหน้าแผนกอยู่เดิมคงได้รับตำแหน่งคณบดีสืบต่อไป

ดังนั้นจึงถือได้ว่า ทันตแพทย์กองทัพบก คือต้นกำเนิดของวงการทันตแพทย์ไทย โดยตั้งแต่ปี พ . ศ . ๒๔๗๒ หรือ ก่อนหน้าการมีคณะทันตแพทยศาสตร์ในประเทศไทยกว่า ๑๐ ปี ได้เคยมีการเปิดโรงเรียนทันตแพทย์ทหารบกขึ้นในโรงเรียนการแพทย์ทหารบก โดยทหารเสนารักษ์ของไทยที่ไปช่วยรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในยุโรป และมีโอกาสฝึกอบรมวิชาทันตกรรมเพื่อนำความรู้กลับมาเผยแพร่ทั้งในและนอกกองทัพ

ศาสตราจารย์ พ . อ . หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ นับได้ว่าเป็นบุคคลที่เป็นปูชนียบุคคลของวงการทันตแพทย์ไทย ท่านเคยรับราชการเป็นทันตแพทย์สังกัดกองทัพบก เป็นคณบดีท่านแรกของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้บุกเบิกกิจการด้านทันตกรรมจนเป็นที่ยอมรับของกองทัพและประชาชนทั่วไป มาจนถึงทุกวันนี้ นับได้ว่าวิชาการทันตแพทย์เกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยฝีมือของทหารอย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์ พันเอกหลวงวาจวิทยาวัฒน์ เป็นผู้มีความเหมาะสม สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นคนดีศรีแพทย์ทหาร สาขาวิชาการและวิจัย ด้วยการที่ท่านเป็นผู้ริเริ่มการถ่ายทอดความรู้ ในการประกอบอาชีพทางทันตกรรมจาก " ช่างฟัน " ที่เรียนรู้ถ่ายทอดมาจากชาวต่างชาติ ปรับปรุงเป็นหลักสูตรการศึกษาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นมาตรฐานสากล ตามหลักการวิชาการแพทย์สมัยใหม่ ท่านเป็นต้นแบบความมุ่งมั่นนำวิทยาการด้านการแพทย์ใหม่ๆมาเผยแพร่ให้เป็นรูปแบบสากล มีการสร้างองค์ความรู้มาตรฐานด้านทันตแพทยศาสตร์ของประเทศ โดยในปี พ . ศ . ๒๔๗๑ เสนอจัดตั้งที่ศิริราชพยาบาล ต่อมาในปี พ . ศ . ๒๔๗๒ ได้ริเริ่มผลักดันเสนอจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ทหารบก ในโรงเรียนแพทย์ทหารบก ที่กรมแพทย์ทหารบก จนกระทั่งต่อมาในปี พ . ศ . ๒๔๘๓ ท่านสามารถผลักดันให้เกิดแผนกทันตแพทยศาสตร์ ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาแปรสภาพเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์จนถึงปัจุบัน จึงถือได้ว่าทันตแพทย์กองทัพบกเป็นต้นกำเนิดวงการทันตแพทย์ไทย







 
Copyright The Association of Military Surgeons of Thailand. All Rights Reserved. 2004-2008.